อัตชีวประวัติหลวงพ่อชด ปิยธัมโม วัดซับข่อย ต.สามแยกวังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

อัตชีวประวัติหลวงพ่อชด ปิยธัมโม วัดซับข่อย ต.สามแยกวังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 

ชาติภูมิหลวงปู่

หลวงปู่ ถือกำเนิด ณ วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2448 ปีมะเส็ง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆะบูชา เวลาอรุณขึ้นพอดี พ่อแม่ หลวงปู่ดีใจมาก เพราะความเชื่อว่า เด็กที่เกิดในวันนี้ จะเป็นเด็กที่ทำให้พ่อ แม่ มีความเจริญ สุขสบายขึ้น เป็นเด็กที่มีบุญญาธิการ พ่อแม่ ของหลวงปู่จึงตั้งชื่อให้ว่า ชด เพื่อที่ชดเชยสิ่งที่ขาดไปในครอบครัวซึ่งมีฐานะยากจนมาก นับแต่หลวงปู่เกิดมาก็ทำให้ฐานะทางบ้านกลับดีขึ้นเป็นลำดับ นับว่าท่านเกิดมาชดเชยสิ่งที่ขาดให้สมกับชื่อท่านโดยแท้
หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 8 คน ของนายแช่ม นางเลี่ยม อยู่เจริญ ณ บ้านหัวลำโพง หมู่ที่ 7 ต.หัวสำโรง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พ่อแม่มีอาชีพทำนา

การศึกษาในวัยปฐม

หลวงปู่ อายุได้ 8 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดหัวสำโรง เรียนได้แค่ 3 เดือน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ เลี้ยงดูน้อง ๆ ที่ยังเล็กอยู่ นับว่ามีความกตัญญูตั้งแต่เยาว์วัย พออายุได้ 13 ปี ก็ได้เข้ารับการศึกษาอีกครั้งหนึ่งที่วัดหัวสำโรง ท่านเรียนทั้งภาษาไทย และภาษาบาลีที่เป็นหนังสือขอม คราวนี้เรียนนานหน่อยคือ 6 เดือน ท่านก็สามารถอ่านออกเขียนได้ จนได้รับคำชมเชยจากพระที่สอนว่า ฉลาดมาก นับว่าท่านมีสติปัญญาเป็นเลิศทีเดียว กอรปกับท่านมีความอุตสาหะ ไม่ย่อท้อ มาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ท่านสำเร็จการศึกษาในระยะเวลาอันสั้น

การอุปสมบทครั้งแรก

หลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษามาแล้ว ก็ออกมาช่วยเหลือพ่อแม่ ทำงานบ้าน พออายุได้ 22 ปี หลังจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว ท่านก็บวชพระเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ตามประเพณีของชาวไทยทุกคน ท่านบวชเป็นครั้งแรกที่ วัดพยัคฆาราม (ซึ่งอาจผิด ท่านบอกว่าจำไม่ค่อยได้) โดยมีหลวงพ่อสาย เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อสายนี้เองที่สอนวิทยาคมให้เป็นองค์แรก เมื่อท่านได้รับรสพระธรรมแล้วมีจิตใจเลื่อมใส ไม่อยากที่จะสึกออกไป แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องสึกคือ ในพรรษาที่สอง โยมพ่อของท่านเกิดป่วยหนัก และเสียชีวิตลง โยมแม่ต้องรับภาระหนักเพียงผู้เดียวในครอบครัว ด้วยความกตัญญู หลังจากออกพรรษาแล้วท่านจึงสึกออกมาเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน ทั้ง ๆ ที่แสนจะเสียดายผ้าเหลือง แต่ก็มีความตั้งใจว่า วันหนึ่งถ้ามีโอกาส จะกลับมาบวชใหม่
ย้ายที่ทำมาหากิน

หลังจากที่ท่านสึกออกมาแล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว ช่วยเหลือกิจการต่าง ๆเรียกว่าต้องทำหน้าที่แทนพ่อ ในการเลี้ยงดูน้อง ๆ ที่ยังเล็กอยู่ แม่ของท่านรู้ว่าท่านมีความประสงค์จะบวชอีกเลยกลัวว่าครอบครัวจะขาดกำลังสำคัญ จึงคิดผูกท่านด้วยเครื่องผูกคือเรือน จึงได้ไปสู่ขอผู้หญิงให้โดยไม่ได้บอกให้ทราบเลย ท่านจึงจำต้องแต่งงาน เมื่ออายุ 26 ปี
หลังจากแต่งงานแล้ว ได้ย้ายไปอยู่ที่ บ้านห้วยกระเบียน ต.พิกุล อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนแถบนั้น

ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม

หลวงปู่มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก หลังจากที่ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่ชุมแสงแล้ว วันหนึ่งหลังจากเสร็จการทำนาแล้ว หลวงปู่ ได้ดั้นด้นเดินทางไปหาพระเถระที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น คือ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ฆราวาส ท่านเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิมอยู่ 3 เดือน
เมื่อท่านเรียน วิทยาคมกับหลวงพ่อเดิม พอสมควรแล้วท่านจึงกราบลาหลวงพ่อเดิม เดินทางกลับบ้านทนี่ อ.ชุมแสง เพื่อทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวที่ดีตามเดิม

อุปสมบทครั้งที่สอง

ในปี พ.ศ.2496 ขณะนั้น หลวงปู่มีอายุที่ได้ 46 ปี แม่ของท่านเกิดป่วยหนักและได้เสียชีวิตลง ท่านจึงตั้งใจจะบวชให้แม่ และได้โอกาสบวชตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เดิม ท่านบวชครั้งที่สอง ที่วัดหนองกอไผ่ ต.วังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร โดยมี พระครูวิเศษธรรมวิวิต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญมา วัดดงเย็น เป็นพระกรรมวาจา และพระอาจารย์แฟ้ม วัดไข่เน่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ภายหลังที่ท่านบวชแล้วก็ตั้งอธิษฐานจิตว่า จะไม่ขอสึกเด็ดขาด จะตั้งใจปฏิบัติธรรมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และจะเดินธุดงค์ตลอดไป เพื่อทำการสงเคราะห์สรรพสัตว์ จนกว่าสังขารจะไม่อำนวย ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นจริงตามที่ท่านตั้งใจ คือ หลวงปู่ หยุดเดินธุดงค์เมื่อปี พ.ศ.2527 รวมเวลาที่ท่านเดินธุดงค์อยู่ 30 ปีเต็ม

แสวงหาอาจารย์กัมมัฎฐาน

หลังจากที่หลวงปู่บวชแล้ว ท่านอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองกอไผ่ 1 พรรษา พอออกพรรษาแล้วท่านก็กราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อเดินทางไปหาอาจารย์สอนกัมมัฏฐาน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงออกเดินทางเรื่อยไป ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเสาะแสวงหาอาจารย์ที่จะสอนธรรมปฏิบัติ จนกระทั่งเดินทางมาถึงยังวัดเขาต้นงิ้ว อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็เป็นเวลาใกล้เข้าพรรษา จึงได้ขอจำพรรษาที่นั่น เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่ง ได้เห็นแนวปฏิบัติและได้สนทนากันเกิดความเลื่อมใสจึงได้ขอมอบตัวเป็นศิษย์ธรรมของ หลวงพ่อก๋ง วัดเขาต้นงิ้ว

แนวทางปฏิบัติธรรม

หลวงปู่เรียนกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อก๋ง อยู่ 3 ปี แนวทางการปฏิบัติของหลวงปู่นั้นคือ ท่าใช้กำหนด อานาปนสติ คือดูลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงดำเนิน หรือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินกันสืบมา หลวงปู่เป็นพระที่ปรารภความเพียรมาก คือ หนึ่งท่านนอนเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น นอกนั้นท่านจะปฏิบัติธรรมด้วยอริยบททั้ง 4 สลับกันไป ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มิได้ขาดถึง 3 ปี จนหลวงพ่อก๋ง ออกปากร้องให้ท่านทำการสอนศิษย์แทน แต่หลวงปู่ปฏิเสธ หลังจากที่ท่านมีความชำนาญในการปฏิบัติดีแล้ว หลวงปู่ก็ได้กราบลาหลวงพ่อก๋ง อาจารย์สอน ออกเดินทางต่อไป เพื่อหาความวิเวก และโปรดสรรพสัตว์ต่อไป
หลวงปู่สร้าง วัดซับข่อย

ในปี พ.ศ.2516 มีญาติโยมชาวบ้าน วังชมพู เลื่อมใสในหลวงปู่ ได้มาที่วัดเสาธงทอง ถวายที่ดินที่อยู่บนเนินเขา เพื่อให้หลวงปู่ ทำการสร้างวัด หลวงปู่พร้อมด้วย พระอาจารย์เชิญ น้องชายท่านและสามเณรยุวชน และสามเณรบุญมา (ซึ่งตอนนี้เป็นพระมหายุวชน อยู่ที่วัดน้อยนาพงษ์) พากันไปดูที่
หลวงปู่เห็นว่า ที่ดินอยู่บนเนินเขาเหมาะที่จะเป็นวัดจึงรับปากที่จะสร้างวัดที่บ้านวับข่อย เดิมทีนั้นวัดซับข่อย เป็นป่าไผ่ จึงสร้างที่อยู่เป็นกระต๊อบขึ้นมาหลังหนึ่ง เพื่อเป็นที่อยู่ พอสร้างกุฏิขึ้นมา 2-3 หลัง หลังเล็ก ๆ สำหรับพระนักปฏิบัติธรรม หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์อีก โดยได้ส่งพระที่วัดเสาธงทอง มาอยู่โดยท่านเดินทางมาดูบ้างเป็นบางโอกาส แต่ในพรรษาท่านจะอยู่จำพรรษาที่วัดเสาธงทองตามเดิม
ในปี พ.ศ.2527 หลวงปู่ก็หยุดเดินธุดงค์ เพราะสังขารไม่อำนวย และเป็นปีแรกที่หลวงปู่ได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดซับข่อย และอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

หลวงปู่มรณภาพ

สิ่งทั้งหลายที่ก่อเกิดขึ้นมาในโลก ล้วนต้องแตกสลายในที่สุด นี่เป็นสัจธรรมของชีวิต ไม่มีใครหลีกพ้น ความตายไปได้ แม้ว่าจะประกอบคุณงามความดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ในวันที่ 29 มกราคม 2532 เวลาประมาณ สี่ทุ่มเศษ เป็นเวลาที่ บรรดาศิษย์ต่างพากันเศร้าสลด เมื่อหลวงปู่ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ เหมือนว่า ร่มโพธิ์แก้วได้โค่นลงแล้ว หมู่นกกาต่าง ๆ ก็หมดอาศัย
การมรณภาพของหลวงปู่ มิได้เหมือนกับพระทั่วไป คือ หลวงปู่นั่งสมาธิมรณภาพ แต่น่าเสียดายที่บรรดาลูกศิษย์ พากันจับท่านนอน หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว นับว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยแท้
ก่อนที่หลวงปู่จะมรณภาพหลวงปู่มีสติแจ่มใส มั่นคงแม้ว่าจะถูกเวทนาครอบงำอย่างหนัก ท่านใช้ขันติระงับเวทนากล้า โดยมิได้แสดงอาการใด ๆ เลย หลวงปู่กล่าวลาบรรดาศิษย์ที่ไปเฝ้า อยู่ว่า หลวงปู่ลาแล้วนะ ขอให้ทุกคนจงเจริญ ๆ แล้วท่านก็นั่งเข้าสมาธิ บรรดาศิษย์ที่ที่ได้ไปเฝ้าหลวงปู่ต่างพากันร้องไห้ระงมไป หลวงปู่ท่านลืมตาขึ้นมาว่า อย่าส่งเสียงดัง อย่ารบกวนสมาธิ หลวงปู่มันเป็นบาป หลวงปู่ไปสบายแล้ว แต่พวกเธอยังต้องลำบากอีกมาก แล้วท่านก็หลับตาอีกครั้ง คราวนี้ท่านเงียบสงบนิ่งไปเลย นับว่า หลวงปู่มรณภาพไม่เหมือนใคร อนิจจา เพชรเมืองเพชรบูรณ์ได้ดับล่วงไปแล้วอีกหนึ่งดวง