ชีวประวัติพระครูอดุลพัชราภรณ์(หลวงพ่อใหญ่)หลวงปู่อำคา ถาวโร วัดประชานิมิต

ชีวประวัติพระครูอดุลพัชราภรณ์ (หลวงพ่อใหญ่) หลวงปู่อำคา ถาวโร
ชาติภูมิ
อายุ 86 ปี พรรษา 66 เดิมชื่อ อำคา นามสกุล หอมมาลา โยมบิดาชื่อ นายบาง โยมมารดาชื่อ นางไฝ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2470 ตรงกับวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 97 หมู่ 8 ตำบลหนองพลวง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
อุปสมบท
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2490 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ค่ำ ปีกุน ที่่วัดหันห้วยทราย ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระครูวิโรจนคุณ วัดหันห้วยทราย ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์
การศึกษา
ทางโลก สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหนองคึม อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
เมื่อ พ.ศ. 2484
ทางธรรม สอบไ่ล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักศาสนศึกษาวัดสวัสดี สำนักเรียนคณะจังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2494
ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองค่าย ตำบลหนองค่าย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลประทาย เขต 2 อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อได้ย้ายจากอำเภอประทาย มาจำพรรษาที่ัวัดหนองสองห้อง (ในขณะนั้น) อำเภอวิเีชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาหลวงพ่อได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ต่างๆ ดังนี้
พ.ศ. 2507 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
พ.ศ. 2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประชานิมิต ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวิเชียรบุรี อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงปัจจุบัน
พระครูอดุลพัชราภรณ์ เป็นพระมหาเถระผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
งานการศึกษา
ท่านได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมโนปณิธานของท่านว่า ท่านไม่ได้เรียนสูง จบเพียงนักธรรมชั้นเอก แต่ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เล่าเรียนอย่างเต็มความสามารถที่จะเรียนได้ จึงได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม บาลี และแผนกสามัญศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก อย่างต่อเนื่อง
งานการปกครอง
ท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีเมตตาสูงยิ่ง ได้ใช้กุศโลบายในการปกครองพระภิกษุสามเณร คือ การปกครองโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ปกครองแบบพ่อปกครองลูก ท่านดำรงตนอยู่ในพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการ และประพฤติตนตามหลักของครูที่ดี ข้อวัตรปฎิบัติของท่านนั้นเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนผู้พบเห็น จนได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2554
การทุ่มเททำงานของท่านตลอดระยะเวลา 66 พรรษาของท่านที่ดำรงเพศบรรพชิต ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนผู้เคารพศรัทธาในตัวของท่าน หลวงปู่ท่านมักจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า ความเป็นศิริมงคล คุณงามความดีต่างๆ นั้น ต้องเกิดจากตัวเราเองก่อน ถ้าหากเราทำดีแล้ว พระก็จะอยู่กับตัวเรา ความดีก็จะเกิดกับตัวเรา แล้วเราจะได้รับผลของการทำดีนั้น แต่ถ้าหากเราทำชั่ว พระก็จะไม่อยู่กับเรา ความไม่ดีก็จะเกิดกับตัวเรา เราก็จะต้องได้รับผลของความชั่วนั้นไม่ช้าก็เร็ว
หลวงพ่อท่านเป็นพระที่ชาววิเชียรบุรี เคารพศรัทธามาก วัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตจากท่าน ล้วนแต่เกิดประสบการณ์อภินิหาร แคล้วคลาดจากภยันตรายมานับไม่ถ้วน ในเรื่องของเมตตามหานิยม วัตถุมงคลของท่านก็เด่นทางด้านทำมาค้าขาย เรียกได้ว่า พุทธคุณครอบจักรวาล ใครมีก็ต่างหวงแหน ซึ่งพุทธคุณของวัตถุมงคลที่หลวงพ่อท่านปลุกเสก เป็นที่ประจักษ์มานักต่อนัก ในปี 2519 หลวงพ่อผางท่านได้มาอธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญรุ่นแรก ในงานฝังลูกนิมิต ที่วัดประชานิมิต ซึ่งหลวงพ่อผางท่านเป็นพระสายปฎิบัติ สายธรรมยุทธ ซึ่งเคร่งครัดในกิจของสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้วัตถุมงคลของท่านเป็นที่หวงแหนของชาววิเชียรบุรีเป็นอย่างมาก ซึ่งมีอยู่่ครั้งหนึ่งที่ชาววิเชียรบุรี ขึ้นไปกราบ หลวงพ่อคูณ ณ วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อคูณถามว่า มึงมาจากไหน เค้าก็ตอบหลวงพ่อคูณว่า มาจากวิเชียรบุรี หลวงพ่อคูณได้ยินดังนั้นก็กล่าวขึ้นมาว่า มึงไปกราบหลวงพ่อใหญ่ ( พระครูอดุลพัชราภรณ์ หรือ หลวงปู่อำคา ) เถอะ ไม่ต้องมากราบกูของดีอยู่ที่บ้านมึงนั่นแหละ ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ได้กล่าวอ้างลอยๆ ชาววิเชียรบุรี เค้าทราบกันดี…

หมายเหตุ ชีวประวัติอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม

จัดทำข้อมูลรวบรวมโดย “เน็ด นาป่า” และทีมงานแอดมินกลุ่มศิษย์พระครูอดุลพัชราภรณ์ หลวงพ่อใหญ่วัดประชานิมิต” ไม่อนุญาตให้นำไปทำซ้ำหรือตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์